ย้อนความ จชต.

th.wikipedia.org

ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

 เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมีสาเหตุทั้งจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเคยเป็นดินแดนชาวฮินดู และ ชาวพุทธ และต่อมาศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชาวมาเลย์มุสลิมย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น (เป็นข้อมูลจากมุมมองของฝ่ายไทย) และเปลี่ยนการปกครองดินแดนแห่งนี้ไปใช้ระบอบการปกครองแบบสุลต่านแห่งปัตตานี (ชื่อพื้นเมือง "ปตานิง" หรือ "ปาตานี") แต่ต่อมาสยามมีความเข็มแขงขึ้นและได้เข้ามามีอิทธิพลเหนื้อพื้นที่แถบนี้เป็นเวลานานกว่า 700 ปี ในช่วงสมัยการล่าอาณานิคมของชาวยุโรป สยามต้องเสียดินแดนบางส่วนในภาคใต้ให้แก่สหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2452 พื้นที่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งถูกผนวกรวมเข้ากับพื้นที่ในความดูแลของสหราชอาณาจักรซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย อีกส่วนหนึ่งยังคงอยู่กับราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน
มูลเหตุแห่งปัญหา
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับภูมิภาคนี้เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้ระบบมลฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครรวมทั้งเจ้าเมืองทั่วประเทศ ส่งผลให้กลุ่มอำนาจเก่าที่เรียกอ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านเดิมในพื้นที่ไม่พอใจ
ในสมัยนโยบายบูรณาการแห่งชาติที่รัฐบาลไทยกำหนดใช้ พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2464 มีผลบังคับให้บุตรหลานของคนทุกหมู่เหล่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียนชั้นประถมศึกษาซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนบางกลุ่มมองว่าความพยายามในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและ ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถอย่างออกเขียนได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานในอนาคต เป็นการกีดกันชนชาติมาเลย์มุสลิมออกจากภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง ต่อมารัฐบาลไทยสั่งปิดบรรดาโรงเรียนต่าง ๆ ที่มิได้สอนภาษาไทยอย่างถูกต้องตามหลักสูตรของรัฐทั้งหมดลงทั่วประเทศในปีพ.ศ. 2466 ซึงรวมไปถึงโรงเรียนของชาวมาเลย์มุสลิมด้วย เป็นผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงและการจลาจลขึ้นในพื้นที่อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตามก่อนการมาตั้งถิ่นฐานของชาวมาเลย์มุสลิมนั้น (เป็นข้อมูลจากมุมมองของฝ่ายไทย) พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย และอาณาจักรลังกาสุกะมาก่อน โดยประชาชนส่วนใหญ่นับศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ
ปี พ.ศ. 2482 มีการประกาศใช้ระเบียบวัฒนธรรมไทยโดยเผด็จการจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ชาวไทยต้องใส่เครื่องแต่งกายและประเพณีนิยมแบบไทย ผู้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวนี้จะต้องถูกปรับไหมและรับโทษอย่างเข้มงวด ทั้งนี้รวมไปถึงชาวไทยมุสลิมด้วย สถานการณ์ก็เลวร้ายหนักขึ้นเมื่อการใช้ภาษามาเลย์และวัตรปฏิบัติบางอย่างทางศาสนาอิสลามถูกรัฐบาลไทยภายใต้เผด็จการจอมพล ป.พิบูลสงครามกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ.1944)
ปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้แนวนโยบาย "ปฏิรูปการศึกษา" ขึ้นในพื้นที่จังหวัดของชาวมาเลย์มุสลิม รัฐบาลให้การยอมรับโรงเรียนสอนศาสนาแบบดั้งเดิม (ปอเนาะ) โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ประยุกต์ระบบการศึกษาไทยเสียใหม่ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมาเลย์มุสลิม เหล่านี้ก็เพื่อสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังความจงรักภักดีในสถาบันหลักอันประกอบด้วยชาติศาสนา (ทุกศาสนาในประเทศไทยได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน) และพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตาม ชาวมาเลย์มุสลิมบางกลุ่มในภาคใต้กลับมองว่า นโยบายบูรณาการแห่งชาตินั้นมีเป้าหมายในการหลอมรวมชนชาวมาเลย์มุสลิมเข้ากับศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ เป็นการท้าทายต่อวิถีศรัทธาและอัตลักษณ์ของชุมชนมาเลย์มุสลิมภายใต้ระบอบการปกครองที่หมายมุ่ง"วิวัฒน์"เกิดการยุยงจากผู้ไม่หวังดีทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ชาวมาเลย์มุสลิมดำเนินการตอบโต้ในหลากหลายวิธีการรวมไปถึงรูปแบบการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากระบอบการปกครองไทย โดยมิได้มองว่าประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม คนบางกลุ่ม บางวัฒนธรรม อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่าชาวมาเลย์ในภาคใต้ด้วยซ้ำไปและก็ไม่ใช่ว่าคนทุกกลุ่มเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลไทย แต่เพื่อความสงบและปรองดองของคนไทยด้วยกัน คนทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่าในประเทศไทยทำทุกอย่างเพื่อให้ตนสามารถอาศัยร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันด้วยความสงบ หากกลุ่มใดไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐ กลุ่มคนเหล่านั้นมักจะแสดงออกด้วยการชุมนุมประท้วง