ย้อนความ ผกร.

                                                                                                                                                                                              th.wikipedia.org

รูปแบบการต่อสู้ : การแบ่งแยกดินแดนและการแยกตัว

แนวความคิดเรื่องความเป็นเอกราชของบรรดาประชาชาติในอาณานิคม บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยังผลให้กระแสชาตินิยมแพร่กระจายสู่ชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้อย่างกว้างขวาง รวมถึงชาวมาเลย์มุสลิม ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ระหว่างช่วงเวลานั้นกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่พอใจต่อระบอบการปกครองไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง "สมาคมประชาชาติมาเลย์แห่งปาตานี" หรือมีชื่อในภาษามลายูว่า Gabongan Melayu Patani Raya (GAMPAR) นำโดยเจ้าชายพลัดถิ่นแห่งปาตานีคือ ตนกู มะหะหมัด มาห์ยุดดีน หรือ มุฮ์ยิดดีน GAMPAR มีเป้าหมายหลักเพื่อแบ่งแยกปาตานีเข้าไปรวมกับบรรดารัฐมาเลย์อื่น ๆ บนคาบสมุทรมลายู ดังมีหนังสือพิมพ์ [1] รายงานข่าวเรื่องนี้ว่า "ชาวมาเลย์พลัดถิ่นจากพื้นที่สี่จังหวัดจำนวนหลายร้อยคน ได้ร่วมจัดการประชุมขึ้นในโกตา บารู], กลันตัน และมลายา แสดงมติเห็นพ้องให้มีการเคลื่อนไหวแบ่งแยกพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครือสหภาพมลายัน"
นอกเหนือจากนี้เมื่อ ฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำศาสนาคนสำคัญในพื้นที่ร่วมกับเหล่าบรรดาผู้ศรัทธา ได้มีบทบาทอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งรู้จักกันในนามของขบวนการประชาชนปัตตานี (Patani people's Movement) หรือ PPM ถือเป็นปรากฏการณ์แรกของการเคลื่อนไหวภายใต้การควบคุมของผู้นำทางศาสนา และเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้ในยุคแรกเริ่ม ที่การนำในขบวนการเคลื่อนไหวตกเป็นของเหล่ากลุ่มผู้นำเดิมของอดีตนครปัตตานี
ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 PPM ได้จัดทำข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาลไทย อ้างถึงความจำเป็นในการปกครองตนเองของชาวมุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัด จนนำมาสู่การจับกุม ฮัจญีสุหลงพร้อมพวกที่เป็นบุคคลใกล้ชิดอีกสองคนในข้อหากระทำการอันเป็นกบฏ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 เพียงช่วงเดือนถัดมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวมาเลย์มุสลิมกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สถานการณ์ความรุนแรงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 เมื่อบรรดาชาวมาเลย์มุสลิมรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ที่สุด รู้จักกันในนามของ "กบฏดุซงญอ" ประเมินกันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ชาวมาเลย์มุสลิมต้องสูญเสียชีวิตไปประมาณ 400 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไปจำนวน 30 นาย ขณะเดียวกันก็มีชาวมาเลย์มุสลิมจากพื้นที่สี่จังหวัด หลบหนีเข้าไปยังรัฐมลายาเป็นจำนวนระหว่าง 3,000-6,000 คน [2] ผลพวงของเหตุการณ์ครั้งนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในกลุ่มชาวมาเลย์มุสลิมของมลายา ให้แสดงการสนับสนุนแนวทางการแบ่งแยกดินแดนเข้าร่วมกับสหภาพมลายา ในขณะที่อังกฤษกลับแสดงความไม่พอใจต่อแนวทางดังกล่าวนี้ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2492 ก็ปรากฏข้อตกลงร่วมระหว่างอังกฤษและไทย ในการร่วมกันดูแลพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนอย่างเคร่งครัด
อิทธิพลของอิสลามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้กลุ่มอำนาจเก่ายกความต้องการอำนาจของตนเองไปรวมกับเนื้อหาทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมทองถิ่นเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยในยุคนั้นดำเนินนโยบายประนีประนอมโดยได้ปล่อยให้ ตัวเลขของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาและมัสยิดทั่วพื้นที่สี่จังหวัดกลับยิ่งเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ชุมชนมีความสนใจในการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นอิสลาม พร้อมกับความพยายามในการธำรงรักษาอัตลักษณ์แห่งชนชาติของตนเองเอาไว้ นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มจำนวนขึ้นของกลุ่มเยาวชนที่เดินทางออกไปศึกษาวิชาการศาสนายังต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาอิสลามในประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งตัวเลขของผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ก็ยิ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน อันแสดงให้เห็นถึงความประนีประนอมของรัฐบาลที่ปล่อยให้ชุมชนสามารถเลือกทำใหนสิ่งที่ต้นต้องการได้
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ชาวมาเลย์มุสลิมบางส่วนอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องแนวทางแห่งอิสลามเพื่อรักษาความเป็นชุมชนมาเลย์ดั้งเดิมเอาไว้ให้เหนียวแน่น รวมทั้งมีการจัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง เช่น "ประวัติศาสตร์มาเลย์ในราชอาณาจักรปาตานี" เขียนโดย อิบรอฮีม สุกรี และ "สันติธรรม" (Light of Security) เขียนโดย ฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่จะแบ่งแยกพื้นที่สี่จังหวัดไปเข้าร่วมกับสหภาพมลายานั้น ดำรงอยู่เพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ดังเห็นได้จากการที่ขบวนการเคลื่อนไหวที่จัดตั้งขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา เริ่มมีแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสถาปนารัฐเอกราชอย่างแท้จริงขึ้นมาแทนที่

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวมาเลย์มุสลิม

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนการแบ่งแยกดินแดน พยายามใช้เหตุผลด้านความอยุติธรรมทางการเมือง อำนาจรัฐส่วนกลางกดขี่ข่มเหงกลุ่มชนชาติส่วนน้อย ความแตกต่างกันในทางภาษา ศาสนา หรือวิถีการดำเนินชีวิต และ ประเด็นทางเชื้อชาติ ขึ้นมากล่าวอ้าง แต่เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบันที่รัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายให้คนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในประเทศละทิ้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้จึงเปลี่ยนข้ออ้างในการก่อความไม่สงบของตนมาเป็นประเด็นของการไม่ต้องการอยู่รวมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากศาสนาเดียวกันเสียอย่างดื่อ ๆ
ในบรรดาความแตกต่างโดยประการพื้นฐานแล้ว ประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนา อาจถือเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เป็นอย่างดี ดังกรณีขบวนการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพื้นที่ ที่ได้นำประเด็นความขัดแย้งทางศาสนามาเป็นเครื่องมือ ใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมถึงการนำเอาหลักการอิสลามมาผสานเข้ากับแนวคิดแบบชาตินิยม ส่งผลให้สามารถทำความเข้าใจและได้รับการขานรับจากมวลชนของตนเองได้ อันเนื่องจากว่าในทางอิสลามจะไม่มีการแบ่งแยกเอาเรื่องของศาสนาออกไปจากเรื่องทางการเมือง ศาสนาอิสลามจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญอยู่ในทุก ๆ กิจกรรมของสังคม ซึ่งก็จะหมายรวมเอาประเด็นของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริงของประเทศไทย พื้นที่ปัญหาทางภาคใต้นั้นไม่ได้มีแต่ผู้ที่นับถึอสาสนาอิสลามอาศัยอยู่เท่านั้น ก่อนหน้าที่อิสลามจะเข้ามามีอิธิพลในดินแดนแถบนี้ พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย และอาณาจักรลังกาสุกะมาก่อน โดยประชาชนส่วนใหญ่นับศาสฮินดู และศาสนาพุทธ มากนานกว่าพันปี และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบันนี้
ในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย สมาชิกของ GAMPAR และ PPM จับมือร่วมกันจัดตั้งขบวนการ "แนวหน้าปลดปล่อยประชาชาติปาตานี" มีชื่อภาษามลายูว่า Barisan Nasional Pembebasan Patani (BNPP) ขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีอดีตผู้นำของ GAMPAR คือ ตนกู อับดุลญะลาล บิน ตนกู อับดุล มุตตอลิบ เป็นหัวหน้าขบวนการ BNPP ถือเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานีกลุ่มแรกที่ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ พร้อมกับมีการประกาศเป้าหมายของการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสถาปนารัฐปัตตานีเป็นอิสระ แทนแนวทางการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมลายา จนกระทั่งถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 จึงได้เปลี่ยนชื่อของขบวนการมาเป็น Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP) แต่จากการที่ BIPP ถูกควบคุมโดยอดีตผู้นำนครปัตตานีซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษนิยม ทำให้กลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าปฏิเสธที่จะเข้าร่วมขบวนการด้วย ในปี พ.ศ. 2506 กลุ่มดังกล่าวนี้ภายใต้การนำของ อุสตาส การีม ฮัสซัน ก็ได้จัดตั้ง "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ" มีชื่อภาษามลายูว่า Barisan Revolusi Nasional (BRN) ตั้งเป้าหมายเพื่อสถาปนาสาธารณรัฐปัตตานีขึ้นเป็นรัฐเอกราช

ธงของขบวนการ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ Barisan Revolusi Nasional (BRN)
ปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้ได้ยุติบทบาทลงไปแล้ว
ในระยะเริ่มแรก BRN ได้ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งองค์กรการเมือง มากกว่าที่จะเปิดแนวรบการสู้รบแบบกองโจร โดยอาศัยสถาบันการศึกษาทางศาสนาคือ "ปอเนาะ" (pondok) เป็นฐานในการเคลื่อนไหวมวลชน เพียงช่วงระยะเวลา 5 ปี BRN ก็สามารถสร้างอิทธิพลขึ้นในปอเนาะหลายแห่งของพื้นที่จังหวัดมุสลิมได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 BRN จึงได้เริ่มจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้นมา
BIPP และ BRN ได้สะท้อนให้เห็นถึงเหรียญสองด้านภายในขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั่นคือ ถึงแม้ว่ามีด้านที่เป็นเหตุและผลที่ดีได้ในหลายประการ แต่ก็อาจกล่าวถึงในอีกด้านหนึ่งได้ว่า การเกิดขึ้นของขบวนการที่มีแนวอุดมการณ์แตกต่างกัน คือแนวคิดแบบอิสลามดั้งเดิม (orthodox Islam) ของ BIPP และแนวคิดแบบสังคมนิยมอิสลาม (Islamic socialism) ของ BRN สะท้อนให้เห็นความแตกแยกที่ไม่อาจผสานร่วมกันได้ จนนำไปสู่การขาดเอกภาพและมีผลบั่นทอนพลังของการต่อสู้ลงไป

ธงขององค์กรกู้เอกราชสหปาตานี พ.ศ 2511 - 2532
ภายในปีเดียวกับการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของ BRN ได้มีการจัดตั้ง "องค์กรกู้เอกราชสหปาตานี" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Patani United Liberation Organization (PULO) [เว็บไซต์ทางการของ PULO ระบุชื่อเรียกเป็นภาษามลายูไว้ว่า Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า "องค์กรกู้เอกราชสหปาตานี" (ผู้แปล)] ขึ้นมาอีกขบวนการหนึ่ง โดยการนำของ ตนกู บีรา (วีรา) โกตานีลา หรือกาบีร์ อับดุล เราะฮ์มาน ซึ่งสำเร็จการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์จากประเทศอินเดีย ภายหลังจากนั้น ตนกู บีรา ก็ได้เดินทางสู่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยอาศัยแนวคิดแบบชาตินิยมปลุกเร้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวปาตานีรุ่นใหม่เข้าร่วมในขบวนการ กล่าวได้ว่าข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่าง PULO กับ BIPP และ BRN ก็คือ PULO ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักศึกษาในประเทศมาเลเซีย ปากีสถาน และกลุ่มประเทศอาหรับอย่างกว้างขวางที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกภายในขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งสามกลุ่มล้วนแต่เป็นผลมาจากความขัดแย้งกันในแนวอุดมการณ์ ยุทธวิธีของการต่อสู้ และสถานภาพของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก กลุ่มผู้นำและสมาชิกอ้างว่า ตนยึดถือหลักการแห่งอิสลามที่ว่า "บรรดาผู้ศรัทธาย่อมจะต่อสู้เพื่อองค์อัลเลาะห์เจ้า ทั้งด้วยทรัพย์สมบัติของเขาและเลือดเนื้อของเขา" แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันรัฐบาลไทยและคนไทยทั่วประเทศ ไม่ได้ต้องการให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในประเทศ ต้องละทิ้งความศรัทธาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนแต่อย่างใด
ขบวนการเหล่านี้จะมีการฝึกอบรมกองกำลังของตนทั้งในหลักสูตรการทหารและการเมือง มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกทั้งเก่าและใหม่รับรู้ร่วมกันในเป้าหมาย อุดมการณ์ รวมทั้งระเบียบวินัยของขบวนการ ซึ่งโดยปกติแล้ว การฝึกอบรมจะกระทำกันในพื้นที่จังหวัดมุสลิมเป็นหลัก เว้นแต่ในบางครั้งก็อาจจะมีการส่งคนไปฝึกอบรมวิชาการทหารเพิ่มเติมยังค่ายฝึกในต่างประเทศ เช่น ประเทศลิเบียและซีเรียนอกจากนี้แนวทางการต่อสู้ของขบวนการเหล่านี้ยังได้รับอิทธิพลจากบรรดานักศึกษาที่อยู่ในต่างประเทศ ส่งผลให้มีการแสดงบทบาทที่แตกต่างไปจากเดิม ดังเห็นได้ในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จากที่เคยเป็นเพียงกลุ่ม "โจรก่อการร้าย" ตามที่รัฐบาลไทยเรียกขานอยู่เสมอไปสู่แนวทางการต่อสู้ตามแบบ "จีฮัด" (jihad) ในที่สุด
ซึ่งกลุ่มจีฮัดเหล่านี้มีดีในด้านทำร้ายประชาชนที่ไม่มีอาวุธ หากต้องสู้กับกองกำลังทหารติดอาวุธด้วยกันแล้ว จะไม่กล้าและจะหลีกเลียงไปใช้ยุทธวิธีการลอบกัดด้านหลังแทน

การสนับสนุนจากภายนอกประเทศ

การสนับสนุนจากภายนอกประเทศที่สำคัญอีกประการคือเงินทุนสำหรับการเคลื่อนไหว ซึ่งมักจะได้รับเงินบริจาคจากกลุ่มตระกูลร่ำรวยในบรรดาประเทศมุสลิม ส่วนภายในพื้นที่ก็มีการเรี่ยไรขอบริจาค การระดมเงินทุนอาจจะกระทำกันในนามขององค์กรการกุศลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเงินทุนหลักจากการสนับสนุนของผู้เลื่อมใสต่อแนวทางการต่อสู้ของขบวนการ รายได้หลักอีกส่วนหนึ่งจะได้มาจากการเรียกเก็บค่าคุ้มครองในผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการจับคนเรียกค่าไถ่ด้วยเช่นกัน เงินทุนของขบวนการเหล่านี้ก็จะหมดไปกับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติการ การดำเนินงาน และการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกนั่นเอง
กล่าวได้ว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2511-2522 (ค.ศ.1968-1975) เป็นช่วงเวลาที่กองกำลังติดอาวุธของขบวนการทั้งสามกลุ่มปฏิบัติการได้เข้มแข็งมากที่สุด ทั้งด้วยการดักซุ่มและเข้าโจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยราชการอื่น ๆ เป็นระยะ รวมทั้งมีการจับคนเรียกค่าไถ่และเรียกเก็บค่าคุ้มครองกับนักธุรกิจที่มีบริษัทห้างร้านอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดถึงคนไทยโดยทั่วไปพากันไม่เห็นด้วยกับการกระทำเยี่ยงโจรโดยใช้ศาสนาบังหน้าของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ รัฐบาลไทยต้องส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติพิเศษที่เป็นกองกำลังผสมทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) ร่วมกันปฏิบัติการในพื้นที่ ตัวเลขของรัฐบาลยอมรับว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีรายงานเหตุการณ์ปะทะกับกองกำลังชาวมาเลย์มุสลิมจำนวน 385 ครั้ง ชาวมาเลย์มุสลิมเสียชีวิตจำนวน 329 ราย เข้ามอบตัวกับทางการ 165 ราย ถูกจับกุมอีก 1,208 ราย ยึดอาวุธปืนได้เป็นจำนวน 1,546 กระบอก และเผาทำลายค่ายพักของขบวนการได้อีก 250 แห่ง แต่การสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดนั้นตกอยู่กับ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ทุกหมู่เหล่า ทุกศาสนา ดังจะเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน   ..... อ่านต่อ