ย้อนความ ผกร. 2

                                                                                                                                                              th.wikipedia.org

ความเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ถึงช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ก็เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เริ่มจากรองประธานของ BIPP คือ วาฮ์ยุดดิน มูฮัมหมัด แยกตัวออกมาจัดตั้ง "ขบวนการมูจาฮีดินปาตานี" มีชื่อในภาษามลายูว่า Garakan Mujahidin Patani (GMP) ขึ้นมา เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 อับดุล เราะฮ์มาน ปูติฮ์ หรือ เจ๊ะกู แม อันตา ประกาศแยกตัวออกจาก GMP และจัดตั้ง "ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปาตานี" มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Gerakan Mujahidin Islam Patani (GMIP) ด้วยเหตุผลว่าขบวนการเดิมให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้นำและเน้นเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าปฏิบัติการทางทหาร
ช่วงเวลาพร้อม ๆ กันนั้น PULO ก็มีการแตกออกเป็นขบวนการ "PULO เดิม" และ "PULO ใหม่" โดยที่ PULO เดิม มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศซีเรียและยังคงมี ตนกู บีรา โกตานีลา เป็นผู้นำ ในขณะที่ PULO ใหม่ มีผู้นำชื่อ อับดุล เราะฮ์มาน เบตง และในปี พ.ศ. 2531 เกิดการแยกตัวออกจาก PULO ใหม่ จัดตั้งขบวนการย่อยในนามของ PULO-88 โดยมี ฮารูน มูเล็ง มหาบัณฑิตรัฐศาสตร์จาก University of Lund ประเทศสวีเดน เป็นผู้นำของขบวนการ
ในส่วนของ PULO ใหม่ ภายหลังจากผู้นำคือ อับดุล เราะห์มาน เบตง ถูกทางการไทยจับกุมตัวเมื่อปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ.1998) และต้องโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ต่อไป โดยที่ไม่มีการประกาศตัวผู้นำสูงสุดของขบวนการออกมาแต่อย่างใด และในทำนองเดียวกับ PULO ขบวนการ BRN ก็มีการแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "แนวร่วม BRN" กลุ่มหนึ่ง และ "สภา BRN" อีกกลุ่มหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะปรากฏชื่อขบวนการ "BRN-Ulama" เคลื่อนไหวอยู่ด้วยแต่กลุ่มนี้ก็อยู่ภายใต้ขบวนการแนวร่วม BRN นั่นเอง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ขบวนการ BIPP, สภา BRN, PULO ใหม่ และ GMP ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งองค์กรร่วม (Umbrella organization) ในนามของ "แนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานี" มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani (BERSATU) โดยมี ดร.มะห์ดี ดาวูด(นามแฝงของ ดร. วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมาน) ประธานขบวนการ BIPP ขึ้นเป็นประธาน BERSATU และเขายังคงดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนปัจจุบัน
ภายหลังความร่วมมือ BERSATU ได้ประกาศคำต่อต้านแนวทางลัทธิอาณานิคมและนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการลบล้างวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีปฏิบัติของชนชาวมาเลย์มุสลิม และต่อพฤติกรรมของรัฐบาลไทยที่กดขี่บีบคั้น ไร้ความยุติธรรม และการจงใจละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงด้วยการลอบสังหาร การ "อุ้ม" ลักพาตัวและกระทำทรมานผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จังหวัดมุสลิม (Conference of Patani Freedom-Fighters, 1989) กล่าวได้ว่า การร่วมมือกันในนามของ BERSATU ปลุกเร้าจิตวิญญาณและจิตสำนึกที่ต้องการปลดปล่อยปาตานีร่วมกันขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งสามารถเป็นความหวังให้กับบรรดาแนวร่วมและมวลชนได้อย่างแท้จริง

เป้าหมายการต่อสู้ของชนชาวมาเลย์มุสลิม

โดยทั่วไปแล้ว เป้าหมายในการต่อสู้ของชนชาวมาเลย์มุสลิมมีลักษณะแตกต่างกันอยู่ 3 แนวทางด้วยกันคือ
  1. มุ่งหวังแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดมุสลิมออกจากประเทศไทย เพื่อสถาปนารัฐอธิปไตยของชนชาวมาเลย์มุสลิมที่ตั้งอยู่บนแนวทางแห่งอิสลามและหลักการประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะมีระบอบการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐ หรือใช้ระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองจะต้องเป็นชาวมาเลย์มุสลิมด้วยกันเท่านั้น
  2. เมื่อไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายประการแรกได้แล้วก็จะต้องต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งสถานะของรัฐบาลท้องถิ่น ให้สามารถจัดการปกครองตนเองนับตั้งแต่ในระดับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก
  3. ถ้าหากว่ายังไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายทั้งสองแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นได้ ก็จะต้องต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนชาวมาเลย์มุสลิม และปกป้องสถานะของการเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดมุสลิมของตนเอาไว้
ส่วนในรายละเอียดนั้น แต่ละขบวนการก็ยังมีเป้าหมายในการต่อสู้ของตนเองแตกต่างกันอยู่ ดังเช่น BIPP ต้องการจะสถาปนารัฐอิสลามแห่งปัตตานี ส่วน BRN ต้องการสร้างสาธารณรัฐสังคมนิยมอิสลามแห่งปัตตานี ในขณะที่ PULO มีแนวโน้มไปในทางการสร้างสรรค์รัฐประชาธิปไตย

ความขัดแย้งกันเองของเนื้อหา เป้าหมายการต่อสู้ของชน 

ชาวมาเลย์มุสลิม

  1. รัฐอธิปไตยที่ตั้งอยู่บนแนวทางแห่งอิสลามนั้นชาวมุสลิมที่เคร่งครัดย่อมรู้ดีว่า ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย
  2. หลักการประชาธิปไตยจะไม่มีการจำกัดว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นชาวมาเลย์มุสลิมด้วยกันเท่านั้น
  3. รัฐบาลท้องถิ่นนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง โดยทั้งรัฐบาลกลาง และ รัฐบาลท้องถิ่น จะอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุดเดียวกัน คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นที่ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก นั้นจึงเป็นไปไม่ได้
  4. การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนชาวมาเลย์มุสลิม และปกป้องสถานะของการเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดมุสลิมของตนเอาไว้ นั้นไม่จำเป็นต้องมีการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงและทำร้ายประชาชนที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ที่สำคัญ เนื่องจากรัฐบาลไทยในปัจจุบันไม่ได้บังคับให้ใครละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ในทางกลับกันรัฐบาลส่งเสริมให้ให้ประชาชนท้องถิ่นรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นมากกว่าที่จะส่งเสริมให้ทำลาย ดังจะเห็นได้จากเงินสนับสนุนในการตั้งโรงเรียน โรงเรียนสอนศาสนาในท้องที่ สร้างมัสยิด สาธารณูปโภคที่จำเป็นต่าง ๆ 

สถานการณ์สมัยปัจจุบัน

การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากระบอบการปกครองไทยที่ดำเนินสืบเนื่องมานับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หรือภายหลังจากที่พื้นที่แห่งนี้ถูก อังกฤษ และ สยาม ทำข้อตกลงแบ่งปันดินแดน (ส่วนหนึ่งของดินแดนนั้นถูกผนวกรวมเข้ากับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2445 และอีกส่วนถูกรวมเข้ามันมาเลเซีย) การต่อสู้ได้ลดน้อยลงในบางช่วงแต่ในทุกวันนี้ทวีความรุนแรง และสั่นคลอนความมั่นคงของอำนาจรัฐไทยในพื้นที่จังหวัดมาเลย์มุสลิมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง เกิดเหตุการณ์ลอบเผาโรงเรียนของรัฐ การเข้าปล้นอาวุธจากคลังแสงของกองทัพบก การโจมตีป้อมตำรวจ รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พระภิกษุ และชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศกฎอัยการศึกขึ้นในพื้นที่
ถึงแม้ว่าในช่วงแรก ๆ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล่าวปรามาสว่าเป็นเพียงการกระทำของ "โจรกระจอก" ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ แต่ในที่สุดก็ต้องออกมายอมรับข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการกระทำของสมาชิกในขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวมาเลย์มุสลิมนั่นเอง
ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนำไปสู่สถานการณ์ขั้นตึงเครียดขึ้นในพื้นที่ ในจังหวัดยะลา มีการเปิดประชุมร่วมกันระหว่าง พล.ท.พงศ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ผู้นำคณะสงฆ์และประธานกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแก่วัดและมัสยิด รวมถึงโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกันก็ปรากฏรายงานข่าวการจัดส่งกำลังทหารบกและนาวิกโยธินจำนวนมากลงมาเสริมกำลังในพื้นที่ 4 จังหวัด (อ้างแล้ว) เพื่อควบคุมสถานการณ์ซึ่งข่าวกรองทางทหารระบุว่าความรุนแรงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เกิดจากปฏิบัติการของขบวนการ PULO, BRN, GMIP และ BERSATU ที่มีเป้าหมายเพื่อการสถาปนา "รัฐอิสลามแห่งปาตานี" ขึ้นให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2551 
กล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ดำรงอยู่มิใช่สิ่งใหม่ หรือเป็นประเด็นปลีกย่อยสำหรับศูนย์อำนาจรัฐไทยที่กรุงเทพแต่อย่างใด ที่ผ่านมารัฐบาลไทยแต่ละสมัยต่างประสบความล้มเหลวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะบ่อนทำลายเอกภาพและอธิปไตยของรัฐไทยลงได้ก็ตาม แต่การต่อสู้ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็สามารถก่อให้เกิดความสั่นคลอนต่อความมั่นคงของอำนาจรัฐไทยในพื้นที่ตลอดมา
สถานการณ์นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 แสดงให้เห็นถึงการขยายพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จากที่เคยมีการลอบเผาโรงเรียนของรัฐก็มีการรวมเอาวัดวาอารามเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับการลอบสังหารที่เคยมีเป้าหมายอยู่ที่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ก็ปรากฏการทำร้ายและสังหารพระภิกษุกับชาวพุทธในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย นี่เป็นการทำร้ายบุคคลบริสุทธิ์ที่ไม่มีอาวุธและไม่มีส่วนเกียวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มก่อการร้ายพยายามสร้างความสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำรุนแรงของตนด้วยการอ่างว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยแบบเหวี่ยงแห การหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยของชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ (ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเกิดจากความขัดแย้งกันเองภายในกลุ่มก่อการร้าย) รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าตรวจค้นบ้านเรือนและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามโดยมิได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า หาตนมิได้เริ่มการกระทำรุ่นแรงก่อน รัฐจะไม่มีการส่งทหารจำนวนมากเข้าไปยังพื้นที่ ไม่มีการประกาศกฎอัยการศึก และที่สำคัญ พี่น้องชาวไทย-พุทธ มุสลิม จีน และอื่น ๆ จะไม่มีการเสียชีวิต